Carrot

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

MEMBER



สมาชิกในกลุ่ม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1


1. นางสาวพีรดา  เชื้อสุข  เลขที่  23




2. นางสาวญาณินท์   รักษาทรัพย์  เลขที่  27




3.นางสาวณัฐวรรณ   ต่อกิจการเจริญ  เลขที่  34




4. นางสาววีรยา  ศรีรัตนาลิ้มวงศ์  เลขที่  36




5.นภัสวรรณ   ศุภณรงค์พงศ์  เลขที่  37




6.  นางสาวกมลพร   รอดคืน  เลขที่  38




7. นางสาวพินทุผล   ทหราวานิช  เลขที่   40





8. นางสาวจิรัชญา   สาครพานิช  เลขที่   43






วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การถนอมอาหาร


          การถนอมอาหาร  (Food Preservation) หมายถึง กระบวนการเก็บและรักษาอาหาร เพื่อชะลอการเน่าเสียของอาหาร หรือป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ในขณะที่ยังรักษาคุณค่าทางโภชนาการ สีสัน และกลิ่นให้คงอยู่

กระบวนการถนอมอาหาร


     การถนอมอาหารมักจะเกี่ยวข้องกับ การยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และุลินทรีย์อื่นๆ และการหน่วงปฏิกิริยาระหว่างไขมันกับออกซิเจนในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเน่าเสีย (rancidity) ของอาหาร การถนอมอาหารนี้อาจรวมถึงการรักษาอายุตามธรรมชาติและสีสันของอาหารซึ่งเกิดจากการปรุงอาหาร เช่น การเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลของเนื้อแอปเปิลเมื่อสัมผัสกับอากาศ และการถนอมอาหารบางประเภทจำเป็นต้องปิดผนึกอาหารหลังจากที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัจจัยของการเน่าเสีย ทำให้อาหารนั้นสามารถเก็บไว้ได้นานมากกว่าปกติ



กระบวนการถนอมอาหารอาจประกอบด้วย

· การให้ความร้อนเพื่อกำจัดหรือทำจุลินทรีย์ให้เสื่อมสภาพ เช่น การต้ม
· การใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน เช่น การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

· การยับยั้งการเกิดสารพิษ เช่น การรมควัน การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำส้มสายชู แอลกอฮอล์ ฯลฯ

· การขจัดน้ำออกจากอาหาร เช่น การตากแห้ง

· การยับยั้งการดูดซึมสารอาหารของจุลินทรีย์ เช่น การเชื่อม การดอง

· การเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิต่ำ เช่น การแช่แข็ง การทำให้เย็นขึ้น

· กระบวนการถนอมอาหารหลายๆ ข้อรวมกัน


ประโยชน์ของการถนอมอาหาร


1. ทำให้มีอาหารรับประทานทั้งในเวลาปกติและเวลาที่ขาดแคลน หรือนอกฤดูกาลของอาหารนั้น

2. เป็นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติและรายจ่ายเนื่องจากมีอาหารสดตามฤดูกาลมาก จนรับประทานไม่ทัน ถ้าปล่อยไว้จะเกิดอาการเน่าเสียตามธรรมชาติ แต่ถ้านำมาถนอมไม่ให้เน่าเสีย ก็จะสามารถเก็บอาหารนั้นไว้รับประทานในเวลาที่อาหารมีราคาแพง หรือหายากเมื่ออยู่นอกฤดูกาลได้

3.ทำให้ได้รับประทานอาหารที่มีรูปลักษณะและรสชาติที่แปลกออกไป เช่น ผลไม้กระป๋อง และผลไม้กวน

4.ทำให้เกิดการกระจายอาหารไปยังชุมชนที่มีความอดอยากหรือขาดแคลนอย่างทั่วถึง

5.ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมผักและผลไม้ให้สุกได้ตมเวลาที่ต้องการโดยใช้เทคโนโลยีทางอาหาร

6.ทำให้เกิดอาชีพ และการเพิ่มพูนรายได้จากการอุตสาหกรรมการถนอมอาหารเพื่อการค้าขาย

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิธีการถนอมอาหาร


          วิธีการถนอมอาหาร มีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย การถนอมอาหารช่วยให้สามารถเก็บอาหารไว้บริโภคได้เป็นเวลานาน โดยที่อาหารนั้นไม่สูญเสียคุณภาพ ซึ่งวิธีการถนอมอาหารมีหลายวิธีสามารถทำได้เองและง่ายมาก ซึ่งเรามาดูวิธีถนอมอาหารกันดีกว่าคะ



วิธีถนอมอาหาร

1. การถนอมอาหารโดยตากแห้ง

          การถนอมอาหารโดยตากแห้งเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดมากที่สุด ใช้ได้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เป็นวิธีที่ทำให้อาหารหมดความชื้นหรือมีความชื้นอยู่เพียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้จุลินทรีย์สามารถเกาะอาศัยและเจริญเติบโตได้ ทำให้อาหารไม่เกิดการบูดเน่า โดยการนำน้ำหรือความชื้นออกจากอาหารให้มากที่สุด เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม กล้วยตาก เป็นต้น


          ก่อนตากแห้งจะต้องล้างให้สะอาด ถ้าเป็นพวกผักมักลวกด้วยน้ำเดือดเสียก่อน ทำให้หยุดยั้งปฏิกิริยาเคมี บางรายนิยมนำเอาผลไม้ไปรมควันกำมะถันอ่อน ๆ ก่อนที่จะตากแห้ง ซึ่งจะช่วยให้มีสีและรสดีขึ้น ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดรสเปรี้ยวและช่วยกันไม่ให้แมลงกัดกินอีกด้วย อาหารที่นิยมถนอมโดยการตากแห้ง มักเป็นประเภทผัก ผลไม้ และเนื้อ เช่น ดีปลี พริก (พริกไทย) เห็ดบางชนิด (เช่น เห็ดแครงที่ขึ้นตามต้นไม้มะขามที่ล้มตาย เป็นต้น) หมากแห้ง (ฝานก่อนตาม) กล้วยตาก (กล้วยสุกปอกเปลือกแล้วตากแห้ง) ลูกหยี (ปอกเปลือกแล้วตากแห้ง) ส้มแขก (ผลไม้ชนิดหนึ่ง ผลกลม หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วตากแห้ง ใช้ในการปรุงอาหาร) เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น

          การตากแห้งอาหารประเภทเนื้อ มักใช้เกลือช่วยเพื่อกันการบูดเน่า และช่วยให้มีรสชาติดีขึ้น เช่น หอยตาก (หอยน้ำจืดชนิดหนึ่งคล้ายหอยแครงแต่ขนาดเล็กว่า ชอบอยู่ในทะเลสาบ อาจลวกให้สุกด้วยน้ำเกลือที่ร้อนจัด หรือคลุกเกลือแล้วตากแดด โดยมากนิยมใช้วิธีหลังจึงเรียกหอยชนิดนี้ตามกรรมวิธีที่นิยมนั้นว่าหอยตาก) ปลาริ้ว (ปลาช่อนตัวโต ๆ ที่นำมาผ่าเป็นริ้ว ๆ แล้วตากแห้ง) ปลาแห้ง (ปลาเกลือ) เนื้อแห้ง (เนื้อเค็ม) เคย (กะปิ) บางชนิดต้มให้สุกเสียก่อนแล้วนำมาตากแห้ง เช่น สารกุ้ง (กุ้งแห้ง)


2.การถนอมอาหารโดยการดอง

         การถนอมอาหารโดยการดอง โดยใช้จุลินทรีย์บางชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยจุลินทร์ทรีย์นั้นจะสร้างสารบางอย่างขึ้นมาในอาหาร ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวอื่นๆได้ ดังนั้นผลของการหมักดองจะทำให้อาหารปลอดภัยจากจุลินทร์ทรีย์ชนิดอื่นๆ และยังทำให้เกิดอาหารชนิดใหม่ๆที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม เป็นการเพิ่มกลิ่น และรสชาติของอาหารให้แปลกออกไป



การถนอมอาหารโดยการดองมีหลายวิธีดังนี้

2.1 การดองเปรี้ยว ผักที่นิยมนำมาดอง เช่น ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี ผักเสี้ยน ถั่วงอก เป็นต้น วิธีทำคือนำเอาผักมาเคล้ากับเกลือ โดยผสมน้ำเกลือกบน้ำส้มต้มให้เดือด ทิ้งไว้ให้เย็น นำมาเทราดลงบนผักที่เรียงไว้ในภาชนะ เทให้ท่วมผักปิดฝาภาชนะไม่ให้ลมเข้าหมักทิ้งไว้4-7วันก็นำมารับประทานได้
2.2 การดอง 3 รส คือ รสเปรี้ยว เค็ม หวาน ผักที่นิยมดองแบบนี้คือ ขิงดอง กระเทียมสด ผักกาดเขียน การดองชนิดนี้คือ นำเอาผักมาเคล้ากับเกลือแล้วผสมน้ำส้ม น้ำตาล เกลือ ต้มให้เดือด ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาเทราดลงบนผักปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 2-3วันก็นำมารับประทานได้
2.3 การดองหวาน ผักและผลไม้ที่นิยมนำมาดอง เช่น มะละกอ หัวผักกาด กะหล่ำปลี เป็นต้น โดยต้มน้ำตาล น้ำส้มสายชู เกลือ ให้ออกรสหวานนำให้เดือดทิ้งไว้ให้เย็น เทราดลงบนผักผลไม้ ทิ้งไว้ 2-3 วัน ก็นำมารับประทานได้
2.4 การดองเค็ม อาหารที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นพวกเนื้อสัตว์และผัก เช่น ปูเค็ม ปลาเค็ม กะปิ หัวผักกาดเค็ม ไข่เค็ม เป็นต้น ต้มน้ำส้มสายชูและเกลือให้ออกรสเค็มจัดเล็กน้อยให้เดือดทิ้งไว้ให้เย็น กรองใส่ภาชนะที่จะบรรจุอาหารดอง แล้วหมักทิ้งไว้ 4-9 เดือนจึงนำมารับประทาน
2.5 การหมักดองที่ทำให้เกิดแอลกอฮอล์ คือการหมักอาหารพวกแป้ง น้ำตาล โดยใช้ยีสต์เป็นตัวช่วยให้เกิดแอลกอฮอล์ เช่น ข้าวหมาก 


3. การถนอมอาหารโดยการเชื่อม 

        การเชื่อมและการกวนเป็นวิธีถนอมอาหาร โดยอาศัยสารน้ำตาลป้องกันไม่ให้อาหารนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงบูดเน่าเสียหาย

การถนอมอาหารโดยการเชื่อม 3 วิธี ดังนี้

3.1 การเชื่อมแบบธรรมดา อาจเคี่ยวจนน้ำเชื่อมข้นเหนียว น้ำเชื่อมแทรกซึมเข้าในเนื้อของสิ่งที่เชื่อมแล้วใช้น้ำเชื่อมที่เหลือแช่หล่อไว้อีกชั้นหนึ่ง เช่น กล้วยเชื่อม สาเกเชื่อม ลูกตาลเชื่อม ขนุนเชื่อม เป็นต้น หรืออาจเคี่ยวต่อไปจนน้ำเชื่อมแก่จัด เมื่อเย็นลงจะแห้งและแข็งตัว


3.2 การถนอมอาหารด้วยการแช่อิ่ม เป็นการถนอมอาหารโดยใช้น้ำตาลปริมาณมาก คือ นำอาหารมาแช่ในน้ำเชื่อม และเปลี่ยนเพิ่มความเข้มข้นจนถึงจุดอิ่มตัวแล้วนำมาทำแห้ง มักใช้กับผลไม้ที่มีรสขม รสขื่น หรือรสเปรี้ยวจัด ทำให้สิ่งนั้นรสจืดลงเสียก่อนโดยวิธีต่าง ๆ เช่น แช่น้ำเกลือ แช่น้ำปูน แช่สารส้ม เป็นต้น ผลไม้ที่นิยมนำมาแช่อิ่ม เช่น มะม่วง มะขาม มะกอก มะยม เป็นต้น


3.3 การฉาบ เป็นการนำเอาผักหรือผลไม้ที่ทำสุกแล้ว เช่น เผือกทอด มันทอด กล้วยทอด เป็นต้น วิธีฉาบคือเคี่ยวน้ำตาลให้เป็นน้ำเชื่อมแก่จัดจนเป็นเกล็ด แล้วเทลงผสมคลุกเคล้ากับของที่ทอดไว้ ทิ้งไว้ให้เย็นจนน้ำเชื่อมเกาะเป็นเกล็ดติดอยู่บนผิวอาหารที่ฉาบ




4. การถนอมอาหารด้วยวิธีการกวน คือ การที่นำเนื้อผลไม้ที่สุกแล้วผสมกับน้ำตาล โดยใช้ความร้อน เพื่อกวนผสมให้กลมกลืนกันโดยมีรสหวานและให้เข้มข้นขึ้น
การใส่น้ำตาลในการกวนมี 2 วิธี คือ ใส่น้ำตาลแต่น้อยใช้กวนผลไม้ เพื่อทำแยม เยลลี่ เป็นต้น และการกวนโดยใช้ปริมาณน้ำตาลมาก เช่น การกวนผลไม้แบบแห้ง เช่น กล้วยกวน สับปะรดกวน ทุเรียนกวน เป็นต้น




5. การทำแยม
การทำแยม เป็นการต้มเนื้อผลไม้ปนกับน้ำตาลด้วยไฟอ่อนในระยะแรก แล้วค่อย ๆ เพิ่มไฟขึ้นทีละน้อย หมั่นคนสม่ำเสมอ จนกระทั่งแยมเหนียวตามต้องการ กล่าวคือ เมื่อใช้ช้อนตักขึ้นแล้ว



6. การรมควัน

การรมควันเป็นการถนอมอาหารที่ต่างไปจากการ ตากแห้งธรรมดา นอกจากจะทำให้อาหารแห้งแล้ว ยังช่วยรักษาให้อาหารเก็บได้นาน มีกลิ่นหอมและรสชาติแปลกซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก การรมควันที่สามารถทำได้ในครอบครัวจะเป็นแบบธรรมชาติิโดยการสุมไฟด้วยไม้กาบมะพร้าว ขี้เลื่อย ซางข้าวโพด ให้แขวนอาหารไว้เหนือกองไฟใช้ไฟอ่อนๆเพื่อให้รมควันอาหารไปพร้อมกับไอร้อนจะช่วยทำให้อาหารแห้งเร็ว เช่น รมควันปลา เป็นต้น



วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ผักกาดเขียวปลี


ผักกาดเขียวปลี





ผักกาดเขียวปลี : (leaf mustard) Brassica juncea (L.) Czernjaew (Opena, 1994)

วงศ์ :  CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ถิ่นกำเนิดของผักกาดเขียวปลีนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ในเอเชียกลาง คือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และแหล่งที่มีความสำคัญรองลงมา น่าจะเป็นตอนกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีน ทางตะวันออกของอินเดียจนถึงพม่าและบริเวณเอเชียไมเนอร์ ในปัจจุบันมีการปลูกผักกาดเขียวปลีแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่อินเดียจนถึงตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เอเชียกลางผ่านตอนใต้ของรัสเซียไปยังทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ

ความหลากหลายทางพันธุกรรมพบมากในประเทศจีน ซึ่งมีการปลูกกันอย่างกว้างขวาง และสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งของพันธุ์ปลูกที่นำมาแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมปลูกผักกาดเขียวปลีชนิดกินใบ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นพืชปีเดียว และสองปีไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นตั้งตรง สูง 30-60 เซนติเมตร ไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นค่อนข้างเรียบ มีนวลจับ ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว ใบมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบบขนนก มีก้านใบ ใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวเข้ม อาจมีขนหรือไม่มีขน มีการห่อของปลีหรือไม่มีขึ้นกับพันธุ์ ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ดอกย่อยบานจากด้านล่างขึ้นไปยังด้านบน มีดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกย่อยยาว 5-12 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4-6 มิลลิเมตร สีเขียว กลีบดอกสีเหลืองสดมี 4 กลีบ มีลักษณะโค้ง รูปไข่กลับ ยาว 6-10 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ยาวสี่อันสั้นสองอัน เกสรเพศเมียมีลักษณะกลม ผลแตกแบบผักกาด ยาว 25-75 มิลลิเมตร กว้าง 2-3.5 มิลลิเมตร ผลยาวตรง มีลักษณะพองและมีรอยคอด ปลายสอบเรียวหรืออาจเป็นจะงอยรูปกรวย ผลแตกเมื่อแก่จัด มี 10-20 เมล็ด เมล็ดกลมสีน้ำตาลจนถึงสีเทาดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 มิลลิเมตร มีรอยร่างแหละเอียดบนเปลือกเมล็ด

การใช้ประโยชน์
นำส่วนต่างๆ ของลำต้นและใบมารับประทานสด หรือปรุงให้สุกเป็นอาหารคาว และนำมาทำผักกาดดองบรรจุกระป๋อง ไห และปีบในโรงงาน ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 20 โรงงาน

คุณค่าทางอาหาร

ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 92 กรัม โปรตีน 2.4 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม แคลเซียม 160 มิลลิกรัม เหล็ก 2.7 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 73 มิลลิกรัม เมล็ดหนักประมาณ 2 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
ผักกาดเขียวเป็นพืชที่ไม่มีเนื้อไม้ มีอายุปีเดียว (annual) จนถึงสองปี (biennial) ขึ้นกับสายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ มรกต 2000 บลูซิน กู๊ดเวอร์ แม็ค

นิเวศวิทยา

ผักกาดเขียวปลีเป็นพืชที่ทนทานต่ออุณหภูมิและความชื้นสูงได้ดี จึงสามารถเจริญเติบโตบนพื้นที่ราบที่มีอุณหภูมิสูงได้ตลอดปี ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี มีแร่ธาตุและอินทรียสารในดินสูง สามารถออกดอกและติดเมล็ดได้ในเขตอากาศแบบร้อนชื้น โดยเมล็ดพัฒนาได้ดีในสภาพอากาศค่อนข้างเย็นและแห้งแล้ง บนพื้นที่สูงระดับปานกลางจนกระทั่งสูงในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น

พื้นที่ปลูกปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 29,371 ไร่ ผลผลิตรวม 67,047 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
จะทำการเก็บเกี่ยวโดยการตัดส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินด้วยมีด เมื่อพุ่มต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ควรหลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวขณะที่แสงแดดจัด เนื่องจากจะทำให้ต้นมีการสูญเสียน้ำและมีการเหี่ยวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การส่งออก
มีการส่งออกในรูปผักกาดดองบรรจุกระป๋องและผักแช่แข็ง แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน


วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ขั้นตอนการเตรียมปลูกผักกาดเขียว


ขั้นตอนการเตรียมปลูกผักกาดเขียว



การเตรียมแปลงปลูก


แปลงปลูกจะมีการเตรียมที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพพื้นที่ และ ปริมาณการผลิต โดยทั่วไปมีหลักการเตรียมแปลงดังนี้

1. การปลูกแบบแถวเดียว ส่วนใหญ่เป็นการปลูกแบบไร่ เหมาะแก่การปลูกตามพื้นที่ราบเรียบและใช้เครื่องจักรเตรียมดินเพื่อการยกร่อง แถวห่างกันประมาณแถวละ 50 เซนติเมตร โดยปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร

2. การปลูกแบบยกร่องสวน โดยการขุดคูระบายนํ้าเพื่อยกแปลงขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ 5-6 เมตร ส่วนความยาวแล้วแต่สะดวก และสภาพพื้นที่ คูระบายนํ้านี้จะช่วยระบายนํ้าเข้าออกให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ มักนิยมปลูกโดยการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดเป็นแถว แล้วถอนแยก เพื่อจัดระยะปลูกให้ได้ขนาด 50 X 50 เซนติเมตร

3. การยกแปลงแบบแถวคู่ เหมาะแก่การทำสวนขนาดเล็ก ใช้แรงคนในการเตรียมดิน โดยยกแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร ความยาวแล้วแต่สะดวก ทำทางเดินเข้าไปรดนํ้าได้โดยสะดวก

การเตรียมดิน

เนื่องจากผักกาดเขียวปลีเป็นผักที่มีระบบรากตื้น ในการเตรียมดินปลูกควรขุดไถดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วลงในดินให้มากประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ เพื่อปรับปรุงให้ดินมีสภาพทางกายภาพที่ดีขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นพรวนย่อยหน้าดินให้ละเอียดเนื่องจากเมล็ดผักกาดเขียวปลีมีขนาดเล็กมาก ถ้าหน้าดินหยาบเมื่อหว่านเมล็ดจะตกลงลึกเกินไป อาจจะไม่งอกหรืองอกยาก ถ้าดินเป็นกรดควรปรับระดับ pH ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

การปลูก

วิธีการปลูกผักกาดเขียวปลีแบบหว่านเมล็ดทั่วทั้งแปลงแล้วถอนแยก จัดระยะระหว่างต้นในภายหลัง เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด รองลงมาได้แก่การปลูกแบบหยอดเมล็ดเป็นแถวหรือเป็นหลุม ส่วนการปลูกแบบเพาะย้ายกล้านั้น ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

1. การปลูกแบบหว่าน วิธีทำโดยหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งพื้นที่ผิว แปลงปลูกที่ได้เตรียมดินไว้อย่างดีแล้ว แล้วใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัว ดีแล้วหรือดินผสมอย่างดี หว่านโรยทับตามลงไปให้หนาประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร หลังจากนั้นคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบาง ๆ เพื่อเก็บความชื้น รดนํ้าด้วยฝักบัวฝอยละเอียดให้ชุ่มและทั่วถึง เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริงประมาณ 1-2 ใบให้เริ่มถอนแยกโดยเลือกต้นที่อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ เป็นโรคหรือเบียดกันแน่นออก การถอนแยกอาจทำหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่ควรปล่อยให้ต้นกล้าอายุเกิน 25-30 วัน พร้อมทั้งจัดระยะระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร

2. การปลูกแบบโรยเป็นแถวหรือหยอดหลุม เป็นวิธีที่ประหยัดเมล็ดได้มากกว่าการหว่านโดยการโรยเมล็ดเป็นแถวลึกลงไปในดินประมาณ ½ – 1 เซนติเมตร ให้ห่างกันแถวละ 50 เซนติเมตร ควรให้เมล็ดในแถวห่างกัน พอสมควร และถอนแยกครั้งสุดท้ายให้ต้นแถวเดียวกันห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร หรือปลูกแบบหยอดหลุมโดยขุดหลุมตื้น ๆ ห่างกัน 50 เซนติเมตร ใช้ปู๋ยคอกหรือปู๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วรองก้นหลุม หยอดเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ดต่อหลุม กลบด้วยดินผสมหรือปู๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใช้ฟางหรือหญ้าแห้ง สะอาดคลุมเพื่อช่วยรักษาความชื้น รดนํ้าด้วยฝักบัวฝอยละเอียด เมื่อต้นกล้า งอกมีใบจริง 1-2 ใบควรเริ่มทำการถอนแยกและถอนแยกครั้งสุดท้ายเมื่อมีใบจริง 3-4 ใบ หรืออายุประมาณ 25-30 วัน ให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

3. การปลูกแบบเพาะและย้ายกล้า เป็นวิธีที่ประหยัดเมล็ดพันธุ์มากที่สุด แต่สิ้นเปลืองแรงงานมากจึงไม่ค่อยนิยมวิธีทำโดยหว่านหรือโรยเมล็ดเป็นแถวในแปลงเพาะกล้าที่เตรียมดินอย่างดีแล้ว เนื่องจากกล้าผักกาดเขียวปลีค่อนข้าง อ่อนแอ ดังนั้นก่อนปลูกลงแปลงควรย้ายลงชำในถุงพลาสติกครั้งหนึ่งก่อนเมื่อ อายุ 20 วัน เพื่อให้ได้กล้าผักที่มีคุณภาพดีและสะดวกในการย้ายปลูก ควร ปฎิบัติดูแลให้ต้นกล้าสมบูรณ์ หมั่นตรวจดูแลป้องกันโรคและแมลง และเมื่อ กล้าอายุ 30 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลง