Carrot

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ผักกาดเขียวปลี


ผักกาดเขียวปลี





ผักกาดเขียวปลี : (leaf mustard) Brassica juncea (L.) Czernjaew (Opena, 1994)

วงศ์ :  CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ถิ่นกำเนิดของผักกาดเขียวปลีนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ในเอเชียกลาง คือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และแหล่งที่มีความสำคัญรองลงมา น่าจะเป็นตอนกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีน ทางตะวันออกของอินเดียจนถึงพม่าและบริเวณเอเชียไมเนอร์ ในปัจจุบันมีการปลูกผักกาดเขียวปลีแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่อินเดียจนถึงตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เอเชียกลางผ่านตอนใต้ของรัสเซียไปยังทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ

ความหลากหลายทางพันธุกรรมพบมากในประเทศจีน ซึ่งมีการปลูกกันอย่างกว้างขวาง และสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งของพันธุ์ปลูกที่นำมาแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมปลูกผักกาดเขียวปลีชนิดกินใบ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นพืชปีเดียว และสองปีไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นตั้งตรง สูง 30-60 เซนติเมตร ไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นค่อนข้างเรียบ มีนวลจับ ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว ใบมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบบขนนก มีก้านใบ ใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวเข้ม อาจมีขนหรือไม่มีขน มีการห่อของปลีหรือไม่มีขึ้นกับพันธุ์ ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ดอกย่อยบานจากด้านล่างขึ้นไปยังด้านบน มีดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกย่อยยาว 5-12 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4-6 มิลลิเมตร สีเขียว กลีบดอกสีเหลืองสดมี 4 กลีบ มีลักษณะโค้ง รูปไข่กลับ ยาว 6-10 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ยาวสี่อันสั้นสองอัน เกสรเพศเมียมีลักษณะกลม ผลแตกแบบผักกาด ยาว 25-75 มิลลิเมตร กว้าง 2-3.5 มิลลิเมตร ผลยาวตรง มีลักษณะพองและมีรอยคอด ปลายสอบเรียวหรืออาจเป็นจะงอยรูปกรวย ผลแตกเมื่อแก่จัด มี 10-20 เมล็ด เมล็ดกลมสีน้ำตาลจนถึงสีเทาดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 มิลลิเมตร มีรอยร่างแหละเอียดบนเปลือกเมล็ด

การใช้ประโยชน์
นำส่วนต่างๆ ของลำต้นและใบมารับประทานสด หรือปรุงให้สุกเป็นอาหารคาว และนำมาทำผักกาดดองบรรจุกระป๋อง ไห และปีบในโรงงาน ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 20 โรงงาน

คุณค่าทางอาหาร

ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 92 กรัม โปรตีน 2.4 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม แคลเซียม 160 มิลลิกรัม เหล็ก 2.7 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 73 มิลลิกรัม เมล็ดหนักประมาณ 2 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
ผักกาดเขียวเป็นพืชที่ไม่มีเนื้อไม้ มีอายุปีเดียว (annual) จนถึงสองปี (biennial) ขึ้นกับสายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ มรกต 2000 บลูซิน กู๊ดเวอร์ แม็ค

นิเวศวิทยา

ผักกาดเขียวปลีเป็นพืชที่ทนทานต่ออุณหภูมิและความชื้นสูงได้ดี จึงสามารถเจริญเติบโตบนพื้นที่ราบที่มีอุณหภูมิสูงได้ตลอดปี ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี มีแร่ธาตุและอินทรียสารในดินสูง สามารถออกดอกและติดเมล็ดได้ในเขตอากาศแบบร้อนชื้น โดยเมล็ดพัฒนาได้ดีในสภาพอากาศค่อนข้างเย็นและแห้งแล้ง บนพื้นที่สูงระดับปานกลางจนกระทั่งสูงในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น

พื้นที่ปลูกปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 29,371 ไร่ ผลผลิตรวม 67,047 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
จะทำการเก็บเกี่ยวโดยการตัดส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินด้วยมีด เมื่อพุ่มต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ควรหลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวขณะที่แสงแดดจัด เนื่องจากจะทำให้ต้นมีการสูญเสียน้ำและมีการเหี่ยวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การส่งออก
มีการส่งออกในรูปผักกาดดองบรรจุกระป๋องและผักแช่แข็ง แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น